มติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจากงวดปัจจุบัน ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
ค่าไฟงวดใหม่พุ่งทะลุ 4 บาท นายกฯ กร้าว ไม่เอาด้วย กดราคาเหลือ 4.20 บาท
การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้สร้างความตกตะลึงให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนการผลิตและต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จึงมีคำสั่งให้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร่งหาทางลดค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับ กกพ. และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาทบทวนการคำนวณค่าเอฟทีใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าได้เหลือประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังมีแผนจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณกลางมาช่วยเหลือ เพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางต่อไป
เปิดสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า 4.68 บาท
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 อยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย โดยคำนวณจากแนวทางเลือกที่ 3 จากทั้งหมด 3 แนวทาง ดังนี้
- กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด): ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
- กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี): ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
- กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี): ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
อัตราค่าไฟฟ้า 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากรัฐบาลยังคงตรึงราคาก๊าซธรรมชาติที่รัฐบาลกำหนดไว้